Webmaster
uthayanclub@hotmail.com
สมันหรือเนื้อสมัน (2346 อ่าน)
22 ก.ย. 2554 17:03
สมันหรือเนื้อสมัน
ลักษณะทั่วไป
สมัน เป็นกวางพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พบเพียงแห่งเดียวในโลก ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยแต่ปัจจุบันได้สูยพันธุ์ไปแล้ว เหลือไว้เพียงซากเขาที่สวยงาม แต่ก็มีเหลืออยู่ในประเทศไทยน้อยขึ้น เนื่องจากถูกชาวต่างชาติ ที่รู้ถึงคุณค่า กว้านซื้อไปเก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมากที่เหลือส่วนหนึ่ง ได้ถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำเป็นด้ามมีด หรือบดทำยาจีน เป็นต้น (วิชาญและสวัสดิ์, 2539) เดิมสมันเคยมีชุกชุมมาก ตั้งแต่ครั้งที่แถบชานเมืองกรุงเทพ ฯ ยังคงเป็นป่าดงแต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 140 กว่าปีที่ผ่านมา มีชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้สนใจศึกษาเกี่ยวกับสมัน ซึ่งรวบรวมรายละเอียดได้ ดังนี้
ปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) เซอร์โรเบิร์ต โชมเบิร์ก (Sir Robert Schomburgk) กงสุลอยเนราลประจำราชสำนักแห่งพระเจ้ากรุงสยาม ได้นำเขาสมันซึ่งเป็นเขาหลุดเก็บตกจากเมืองไทย ทูลถวายพระนางวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระนางวิกตอเรียรับสั่งให้ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์เซาท์เคนชิงตัน ต่อมาโปรเฟสเซอร์ไบลท์ (Blyth) ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญคุ้นเคยกับเขากวางต่าง ๆ จากประเทศอินเดีย ได้ศึกษาเขากวางดังกล่าวและยกให้สมันเป็นกวางชนิดใหม่ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กวางโชมเบิร์ก Rucervus schomburgki (Blyth, 1863) เพื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์โรเบิร์ต โซมเบิร์ก
การจำแนกและตั้งชื่อของโปรเฟสเซอร์ไบลท์นั้นตั้งตามชื่อสกุล Rucervus ของกวางบาราซิงห์ (Swamp Deer, Rucervus duvaucell) ที่พบในอินเดียซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสมันมาก จนเบื้องต้นเข้าใจว่าสมัน น่าจะเป็นชนิดย่อยของกวางบาราซิงห์ แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น สมันมีบีมที่สั้นกว่าจนเห็นได้ชัดเจน มีเขาแขนงซึ่งแตกกิ่งก้านมากมายกว่า และเขากิ่งรับหมายาวสวยงามนและปลายกิ่งจะแตกออกเป็น 2 แฉก จมูกของสมันจะยาวและกว้างกว่าและต่อมน้ำเหนือหัวตาก็ตื้นกว่า อักทั้งถิ่นอาศัยก็พบเฉพาะภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้นจึงยอมรับว่าสมันเป็นกวางชนิดใหม่ โดยเหตุผลและรายละเอียดของโปรเฟสเซอร์ไบลท์ มีปรากฎอยู่ในหนังสือ Proceedings of the Zoological Society of London ปี ค.ศ. 1863 หน้า 155 สรุปได้ว่า ในการตั้งสมันให้เป็นกวางชนิดหนึ่งซึ่งแยกต่างหากจาก แสวมป์เดียร์ Rucervus duvauceli ในอินเดีย เนื่องจาก
1) เขาสมันได้ไปจากเมืองไทยเพียงแห่งเดียว และเป็นภูมิประเทศที่ห่างไกลจากถิ่นของ Rucervus duvauceli มาก ทั้งมีอาณาเขตของ Pauolia eldi ขวางกั้นอยู่ตั้งแต่ที่ลุ่มเมนนิเปอร์ จนถึงที่ลุ่มลำน้ำไอราวดี ทั้งในราชอาณาจักรไทยก็ไม่เคยพบว่ามี Rucervus duvauceli ปรากฎอยู่เลย
2) ลักษณะแปลกของเขาสมัน คือลำเขา (Beam) มีลักษณะสั้นประหลาด แม้ว่าจะมัลักษณะคล้ายคลึงกับเขาของบาราซิงห์มาก แต่ก็มีขนาดสั้นกว่าจนเห็นได้ชัดทั้งยังมีเขาแขนงปลายกิ่งซึ่งแตกกิ่งก้านมากมายกว่า และเขากิ่งรับหมาก็ยาวสวยงามกว่ามาก
ต่อมาได้มีการพิจารณาตัดรวมสมันเข้าไว้ในสกุล Cervus (Linnaeus, 1758) เนื่องจากมีลักษณะสำคัญคือ ฐานเขา (Pedicel) ที่ติดกับกะโหลกสั้นแต่ตัวเขายาว และกระดูกกรามบนมีเขี้ยวสั้น ๆ 1 คู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ของสมันจึงเปลี่ยนเป็น Cervus schomburgkl
ปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) โปรเฟสเซอร์ไบลท์ ได้แสดงปาฐกถา เรื่องสมันอีกครั้ง พร้อมทั้งรูปถ่ายเขาสมันอีกหลายหัวและกล่าวว่าเขาได้ทราบอย่างแน่นอนว่า สมันเพศผู่ตัวหนึ่งได้ถูกส่งมาจากเมืองไทยและเลี้ยงอยู่ในสวนพฤกษชาติ Jardin des Plants d’Paris ในกรุงปารีส
ปี ค.ศ. 1872 (พ.ศ.2415) มีรายงานในหนังสือสัตวศาสตร์ P.Z.S. ว่า ฝรั่งคนหนึ่งได้รับพระราชทานสมันตัวหนึ่งมาตากพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม และสวนสัตว์เซี่ยงไฮ้ได้รับเลี้ยงไว้
ปี ค.ศ. 1873 พ.ศ. (2416) สวนสัตว์ในลอนดอน ได้ลูกกวางเพศผู้ตัวหนึ่งมาจกาสวนสัตว์ที่แฮมบูร์ก เดิมเข้าใจว่าเป็น Rucervus duvauceli แต่ต่อมาอีก 4 ปี จึงทราบว่าเป็นสมัน จึงมีการทบทวนประวัติของกวางตัวนี้ใหม่พบว่าพ่อของมันได้มาจากกรุงเทพ ฯ ในปี ค.ศ. 1862 ส่วนแม่ของมันได้รับช่วงต่อมาจาก เบอร์ลิน ซึ่งเข้าใจว่าได้รับมาจากเมืองไทยเช่นกัน
ปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) เซอร์วิคเตอร์บรู๊คได้บรรยายว่าเขาได้รับสมันเพิ่มเติมอีกหลายคู่โดยได้รับคำบอกเล่าจากนายแพทย์แคมป์เบล ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำตัวกงสุลเยเนราลประจำราชสำนักแห่งพระเจ้ากรุงสยาม ว่าเขาสมันเหล่านี้ดูเหมือนจะได้มาจากทางเหนือ ซึ่งความจริงไม่เคยมีสมันอยู่ในป่าเมืองเหนือ เข้าใจว่านายแพทย์แคมป์เบลคงเข้าใจผิด (บุญส่ง, 2497) ทั้งยังกล่าวถึงสมันที่เลี้ยงไว้ในสวนพฤกษชาติ Jardin des Plants d’Paris ในปารีสว่าได้ตายลง และเก็บสตั๊ฟไว้ที่ Museum d’Histoire Naturelle ที่กรุงปารีสและโดยสมันตัวนี้ ได้ถูกส่งมาจากเมืองไทยโดย มิสเตอร์ เอม. โบกูต์
ปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) พระยาราชวรินทร์ เจ้าเมืองสระบุรีจับลูกกวางตัวหนึ่งได้ในทุ่งโคราช ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นกวางอะไร แต่พระยาอินทรมนตรีว่าจับได้จากหาดสองแควใกล้แก่งคอย ต้นน้ำป่าสัก และพระยาราชวรินทร์ได้ให้แก่มิสเตอร์เบทเย (Bethge) ผู้อำนวยการรถไฟ ซึ่งได้นำลงมายังกรุงเทพฯ ในปีต่อมาได้นำกลับไปยังประเทศเยอรมัน และมอบให้แก่สวนสัตว์เบอร์ลิน ต่อมาเมื่อกวางดังกล่าวโตขึ้นจึงทราบว่าเป็นสมัน สร้างความตื่นเต้นให้นักสัตวศาสตร์ ทางห้างจามราช (Messrs Jamrach) จึงส่งนักค้นคว้ามิสเตอร์ชานซ์ (Chance) เข้ามาค้นหาสมันอีกครั้งหนึ่ง มิสเตอร์ชานซ์ใช้เวลาหลายเดือนในการติดตามและดักกวางเป็น ๆ อยู่รูปหนึ่งและเป็นรูปเดียวที่มีอยู่ในโลกที่ถ่ายจากสมันที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นสมันที่ถูกส่งไปไว้สวนสัตว์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
ปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) และ ปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) พิพิธภัณฑสถานแห่งอังกฤษได้พยายามติดต่อสถานทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ ขอให้จัดหาสมันหากไม่ได้ตัวเป็น ๆ ก็ให้ซื้อกระดูกต่าง ๆ และหนังของสมัน เท่าที่หาได้ส่งไปอังกฤษเพื่อศึกษาเพิ่มเติม เพราะในอังกฤษมีแต่เขาและกะโหลก แต่ก็ไม่เคยได้ส่วนหนึ่งส่วนใดของสมันเพิ่มเติมไปอีกเลย
ปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) มิสเตอร์พีอาร์เค็มป์ (N.H.S.S. Vol.lll No. 1) ได้ติดตามหาสมันในเมืองไทย และได้ความจากชาวบ้านปากน้ำโพว่า รูปร่างของสมันคล้ายกับละองละมั่งมาก ผิดกันที่เขามีหลายกิ่ง แต่ตัวเมียแยกกันไม่ค่อยออก ฉะนั้นชาวบ้านปากน้ำโพจึงมักเชื่อกันไปว่าสมันมีแต่ตัวผู้ และผสมพันธุ์กับละมั่ง ลูกที่ได้ออกมาอาจมีเขาสมันบ้าง มีเขาเป็นละองบ้าง และมิสเตอร์พีอาร์เค็มป์ ยังได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านตำบลบัวชุมซึ่งอยู่เลยชัยบาดาลขึ้นไปทางโคราชเล็กน้อยว่า พ่อค้าเขาสัตว์ได้นำเขาสมันล่องลงมาชายทางแม่น้ำป่าสักบ่อย ๆ (แต่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้ให้ความเห็นว่ามิสเตอร์ พีอาร์เค็มป์ ได้รับคำบอกเล่าที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากตำบลบัวชุมเป็นที่ราบสูง ส่วนมากเป็นดงทึบพบแต่กวางป่า และละองละมั่ง ไม่มีทุ่งราบต่ำกว้างขวางพอที่จะให้สมันอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ ๆ ได้เลย)
พระยาชลมารคพิจารณ์ ได้พยายามไต่ถามชาวบ้านแถบลำแควป่าสักก็ไม่มีผู้ใดเคยพบเห็นสมัน มิสเตอร์ไลล์ (Lyle, N.H.S.S. Vol.lll No.1) กงสุลเยเนราลประจำกรุงเทพฯ ได้พบเขาสมันแขวนอยู่ตามบ้านราษฎรหลายริมแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่าง ปากน้ำโพกับอุตรดิตถ์ แฮร์โคลเบ (N.H.S.S. Vol.lll No.1) พบเขาสมันคู่หนึ่งในลุ่มน้ำป่าสักใกล้แก่งคอย พระยาเดชานุชิตเทสาจันทบุรี ยิงสมันได้ตัวหนึ่งในทุ่งหญ้าหน้าเมืองจันทบุรี
ปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) สมันที่จับได้ในปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) และถูกส่งไปยังสวนสัตว์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ได้ตายลงแต่ก็ได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยและบันทึกภายสมันไว้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นภายถ่ายสมันเพียงชุดเดียวในโลก
ปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) ตามคำบอกเล่าของพระยาชลมารคพิจารณ์ว่า ได้ทราบจากบิดาของท่านคือ ดอกเตอร์ใหญ่ สนิทวงศ์ ซึ่งเวลานั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2457) เป็นผู้อำนวยการบริษัท Siam Canals, Land & lrrigation อยู่ควบคุมการขุดท่อระบายน้ำ เพื่อการทำนาในทุ่งรังสิต ท่านได้เล่าว่า มีสมันชุกชุมมากตามทุ่งรังสิต เคยยิงได้แถวบริเวณประตูน้ำจุฬาภรณ์ ในฤดูน้ำหลากสมันจะหนีไปอยู่รวมกันในที่ดอน ชาวบ้านกืจะชวนกันไปด้วยเรือม่วงและไล่แทงเอาตามใจชอบ ในฤดูร้อนแถวบางเขน ชาวบ้านจะเอาเขาสมันตากแห้งสวมศรีษะ คลานสเข้าไปถึงตัวสมันแล้วแทงเอาอย่างง่ายดาย เพราะมันไม่ค่อยหนี สมันในสมัยนั้นมีชุมไปถึงตำบลบางปลากดและตำบลทุ่งดงลครในนครนายก (บุญส่ง, 2497)
ปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2497) พระยาชลมารคพิจารณ์ (N.H.S.S. Vol.lll No. 4) ได้ไต่ถามหัวหน้าคนงานผู้หนึ่งซี่งอายุมากแล้วได้รับคำยืนยันว่า เมื่อครั้งเขายังหนุ่ม ๆ เคยเห็นสมันชุกชุมอยู่ระหว่างแม่น้ำสุพรรณบุรีกับแควน้อยชายชราผู้นี้บอกลักษณะของสมันได้ถูกต้องน่าเชื่อถือได้ พระยาชลมารคพิจารณ์จึงส่งคนขึ้นไปยังตำบลดังกล่าว แต่ได้ความเพียงว่าเคยมีชุกชุมแต่สูญพันธุ์ไปเพราะการเปิดพท่นที่เพื่อทำนาและเมื่อท่านไปตรวจราชการที่อำเภอจระเข้สามพัน สอบถามนายอำเภอ ได้ความว่าเคยยิงได้ตัวหนึ่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
ปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) นายอาร์บบิโกต์ (Brigadier Gen. R. Pigot. N.H.S.S. Vol.lll No. 1) เป็นผู้หนึ่งได้พยายามติดตามหาสมัน เขาเดินทางตามคำบอกเล่าของชาวบ้านและพ่อค้าเขาสัตว์ไปยังโคราช ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานีและอีกหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อรัญประเทศและกบินทร์บุรี ซึ่งไม่พบสมันและทราบความจริงว่าไม่มีผู้ใดเคยรู้จักสมัน และเขาได้รับความยุ่งยากในเรื่องการใช้ชื่อสับสนของชาวบ้านเหล่านี้ไม่น้อย เนื่องจากชาวบ้านมักจะเรียกสมันไปปนกับละองหรือละมั่ง หรือแม้แต่กวางป่าและบางคนก็เรียกรวม ๆ กันไปว่า เนื้อ จนในที่สุดนายอาร์บิโกต์ก็ได้พบคนที่รู้จักสมันคือ นายอำเภอชัยบาดาลและนายอำเภอแก่งคอยที่สระบุรี ซึ่งยืนยันตรงกันว่าเคยพบสมันที่นครนายกเมื่อหลายปีมาแล้วเคยมีชุกชุมมากในทุ่งนครนายก แต่สูญพันธุ์ไปเพราะการเปิดพื้นที่เพื่อทำนา
พระยาชลมารคพิจารณ์ไปตรวจราชที่คลองมะขามเฒ่า ได้ยินจากชาวบ้านว่ามีสมันหลบซ่อนอยู่ตามทุ่งแถบนั้นตัวหนึ่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ก็ทราบข่าวว่าหายสาบสูญไปแล้ว พระยาอภัยวงศ์ก็เคยสนใจอยากจับสมันมาเลี้ยงเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ โดยเอาช้างพาหนะไปจากปราจีนไปท่องเที่ยวค้นหาทางตะวันตำของแม่น้ำสุพรรณแต่ก็ไม่พบ
ปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) นาย อู กูเลอร์ (U. Guehler,N.H.S.S. Vol.lX No.1) ทราบจากหลวงวิศิษฐ์ นายอำเภอกาญจนบุรีว่า นายสิบตำรวจเลียน ยิงสมันตัวหนึ่งได้ที่แควน้อยราวต้นปี ค.ศ. 1932 โดยหลวงวิศิษฐ์เล่าว่าเห็นเขาใหม่ ๆ ยังมีเนื้อหนังติดอยู่ และที่แควใหญ่กาญจนบุรีก็ยิงได้อีก 1 ตัว (Guehler, 1933) แต่เรื่องนี้ นาย ซี.เอช. สต๊อกเลย์ (N.H.S.S. Vol. LX No> 1) กล่าวว่าบางคนอาจอยากให้นักล่าสัตว์ไปเที่ยวป่ามาก ๆ และทราบดีว่าต่างประเทศต้องการสมันมาก อาจเอาหัวสมันที่ยิงได้เมื่อหลายปีก่อนและมีหนังหน้าผากติดอยู่เอาลงแช่น้ำเกลือ หนังก็จะนุ่มดูเหมือนเนื้อหนังใหม่ ๆ ที่พึ่งถูกยิง นาย ซี.เอช. สต๊อกเลย์ จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นสมันที่ยิงได้ใหม่ ๆ จริง
ปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) ตามหลักฐานได้บันทึกว่า สมันตัวสุดท้ายได้เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่วัดในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
ลักษณะทั่วไป
สมันเป็นกวางพื้นเมืองเฉพาะถิ่นในประเทศ พบเพียงแห่งเดียวในโลกเป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีกีบเท้าเป็นกีบคู่ เท้าแต่ข้างมีนิ้วเท้าเจริญดี 2 นิ้ว พัฒนาให้มี 4 ตอน รวมทั้งกระเพาะพักเพื่อย่อยอาหารจำพวกพืชโดยเฉพาะมีต่อมน้ำตาเป็นแอ่งที่หัวตา ไม่มีถุงน้ำดี และที่สำคัญคือ มีเขาบนหัวที่เรียกว่าเขากวาง เฉพาะในตัวผู้ลักษณะของเขาสวยงามมาก เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวหัวจรดหาง 180 เซนติเมตร ความสูงถึงไหล่ 104 เซติเมตร ความยาวหาง 10.3 เซติเมตร ความยาวหู 16.5 เซติเมตร น้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม มีรูปร่างและเขาที่สวยงาม มีขนตามตัวเรียบเป็นมัน ยาว และหยาบ สีขนบนลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มเรียบเป็นมัน ขาและบริเวณหน้าผากมีสีน้ำตาลแดง แงคอสั้นประมาณ 5 เซติเมตร ขนที่ลำคอด้านหนาลงไปถึงอกยาวประมาณ 10 เซติเมตร ขนบริเวณจมูก และส่วนบนของหาง สีค่อนข้างดำ หางสั้นและด้านล่างมีสีขาวมีเขาเฉพาะเพศผู้ เพศเมียไม่มีเขา และรูปร่างคล้ายกับละมั่งมาก
เขาสมันมีลักษณะสวยงาม เขาเป็นแบบกวาง (Antlers) ซึ่งเป็นเขาตัน มี 2 ข้างขนาดเท่า ๆ กัน ลำเขามีการแตกกิ่ง มีการผลัดเขาเป็นประตำทุกปี เขาที่งอกใหม่เรียกว่าเขาอ่อน ซึ่งงอกจากส่วนวงแหวนเขา (Burr) ที่ติดอยู่กับกระดูกหน้าผากของหัวกะโหลก โดยมีหนังหุ้มเขานุ่มคล้ายกำมะหยี่มีเส้นเลือดเส้นประสาทหล่อเลี้ยงเมื่อเขาโตและแก่เต็มที่ หนังหุ้มเขาจะแห้งและหลุดออกไปเหลือแต่ตัวเขาที่แข็งซึ่งจะผลัดเขาหลุดไปทุกปี
เขาสมันมีขนาดใหญ่และแตกกิ่งก้านออกหลายแขนง กิ่งรับหมา (Brow tine) ยาวและโค้งงอน ทอกลงมาด้านหน้าทำมุมยกประมาณ 60 องศากับใบหน้าความยาวเฉลี่ย 30 เซติเมตร ปลายกิ่งรับหมาแตกออดเป็น 2 แขนง ลำเขา (Beam) สั้น ประมาณ 12 เซนติเมตร ลำเขาตั้งฉากกับกิ่งรับหมา มีการแตกกิ่งเขาช่วงแรกออกเป็นกิ่งหน้าและกิ่งหลัง แต่ละกิ่งจะแตกแขนงเป็น 2 กิ่ง ต่อ ๆ ไป 2-3 ชั้น โดยทำมุมแยกออกไปเท่ากับลำกิ่งเดิม ลักษณะคล้ายสุ่มหรือตะกล้าจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากวางเขาสุ่ม โดยเฉลี่ยแล้วเขาสมันจะมีกิ่งแขนงตั้งแต่ 10- 33 แขนง โดยเขาขนาดใหญ่จะมีกิ่งแขนงข้างละ 8-9 กิ่ง วัดความยาวโค้งนอกได้เฉลี่ยประมาณ 65 เซนติเมตร
การแพร่กระจาย
สมัยก่อนมีชุกชุมมากในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ปัจจุบันสูญพันธุ์แล้ว โดยมีรายงานการพบสมันในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 โดยนายสิบตำรวจเลียน ยิงสมันเพศผู้ตัวหนึ่งได้ที่แควน้อย และรายงานสุดท้ายที่พบสมันถูกนำมาเลี้ยง คือที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครเป็นสมันเพศผู้ ซึ่งได้ตายลงในปี พ.ศ. 2481 และหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบสมันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 68 ปีมาแล้ว และโชคร้ายที่ประเทศไทยไม่มีการนำสมันมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ ส่วนสมันที่นำไปเลี้ยงในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นสมันเพศผู้และไม่มีรายงานการาขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงจากที่ใดเลย
สมันเป็นสัตว์ชนิดที่มีเขตแพร่กระจายจำกัดอยู่ในบริเวณที่ราบภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้นสมัยก่อนมีชุกชุมมากในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดรอบกรุงเทพฯ มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบกรุงเทพฯ และหัวเมืองโดยรอบ ขอบเขตการกระจายมีตั้งแต่จังหวัดสมุทรหราการ ขึ้นเหนือไปถึงจังหวัดสุโขทัย ด้านตะวันออกไปถึงจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา ด้านตะวันตกกระขายไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า สมันน่าจะเคยมีในประเทศลาวและภาคใต้ของจีนด้วย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันที่เชื่อถือได้ จึงกล่าวได้ว่าสมันเป็นสัตว์พื้นเมืองเฉพาะถิ่นของประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก
ชีววิทยา
สมันชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ประกอบด้วยตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียและลูก 2-3 ตัว หลังจากหมดฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะแยกตัวออกมาอยู่โดดเดี่ยว ชอบกินหญ้าโดยเฉพาะหญ้าอ่อน ผลไม้ ยอดไม้ ใบไม้หลายชนิด มีลักษณะการเดินยกหัวและท่วงท่าที่สง่างาม คึกคะนองชอบประลองท้าทายกับกวางที่ตัวโตกว่า เสียงร้องแหลมสั้น ๆ คล้ายเสียงหวีดร้องของเด็ก ฤดูผลัดเขาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (สวัสดิ์, 2539) สำหรับการสืบพันธุ์ไม่มีผู้ใดเคยศึกษา จึงไม่มีข้อมูลที่แน่นอนในเรื่องการสืบพันธุ์ของสมัน
นิเวศวิทยา
สมันจะอาศัยเฉพาะในทุ่งโล่ง หากินหญ้าตามท้องทุ่งโล่งใกล้แม่น้ำ หรือที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในช่วงเย็นค่ำจนถึงเช้า ตอลกลางวันมักหลบแดด และซ่อนตัวอยู่ตามป่าละเมาะหรือพงหญ้าสูง ๆ และมักอาศัยรวมถิ่นปะปนกับเนื้อททราย ปกติแล้วสมันไม่ชอบอยู่ตามป่ารกทึบหรือป่าโคกอย่างกวางป่าหรือละมั่ง เนื่องจากมีกิ่งรับหมายาวและทำมุมแหลมกับในหน้า กิ่งก้านเขาซึ่งบานเป็นสุ่ม ทำให้สมันไม่สามารถมุดลอดได้เพราะกิ่งก้านเขาจะขัดหรือเกี่ยวพันกับกิ่งไม้ปรือเถาวัลย์ ในฤดูน้ำหลากท่วมท้องทุ่งจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่ร่วมกันบนที่ดอน ทำให้พวกพรานล้อมไล่ฆ่าอย่างง่ายดาย
สถานภาพ
สมันได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก เมื่อประมาณ 68 ปีมาแล้ว (พ.ศ. 2481) จากการจัดสถานภาพโดย IUCN (2004) สมันมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ (Extinct)
ปัจจัยคุกคาม
สาเหตุของการสูญพันธุ์ของสมัน สืบเนื่องมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยได้ถูกเปลี่ยนเป็นนาข้าวเกือบทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยได้เปิดติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) และข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญทำให้คนไทยตื่นตัวทำนากันมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลสร้างทางรถไฟขึ้นไปทางสายเหนือ นำประชาชนจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี อำเภอนครโชยศรี จังหวัดนครปฐม และอยุธยา ขึ้นไปจับจองที่ดินทำนากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสมันและเกิดการฆ่าสมันในแถบนั้นหมดภายในไม่กี่ปี ส่วนสมันที่เหลืออยู่ตามที่ห่างไกลจะถูกล่าอย่างหนักในฤดูน้ำหลากท่วมท้องทุ่ง ซึ่งสมันจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่รวมกันบนที่ดอนทำให้พวกพรานล้อมไล่ฆ่าอย่างง่ายดาย
ที่มา
หนังสือ “สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย” กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า (กรกฏาคม 2549)
125.24.21.122
Webmaster
ผู้ดูแล
uthayanclub@hotmail.com