Webmaster

Webmaster

ผู้ดูแล

uthayanclub@hotmail.com

  เลียงผา (1680 อ่าน)

27 ก.ย. 2554 17:43

เลียงผา
ลักษณะทั่วไป
     เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์มหิงสา (Bovidae) เช่นเดียวกับวัว ควาย แพะ แกะ อยู่ในวงศ์ย่อยแพะแกะ (Caprinae) เลียงผาเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ (Geist, 1985) จึงมีปัญหาในการจำแนกว่าจะอยู่ในสกุลใดระหว่าง Capricornis และ Nemaorhaeaedus ดังนั้นจึงพบว่าเลียงผามีชื่อวิทยาศาสตร์ทั้ง Capricornis sumatraensis ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ใช้ชื่อวิทยศาสตร์ Capricornis sumatraensis 
     โดยชื่อสกุลเกิดจากการนำคำลาตินและกรีก 2 คำมารวมกันคือคำว่า Capri มาจากคำภาษาลาติน Caprea แปลว่า แพะ (Giats) ส่วนคำว่า Cornis เป็นภาษากรีก แปลว่าเขา (Horn) ดังนั้น คำว่า Capricornis จึงแปลว่า สัตว์ที่มีเขาอย่างแพะส่วนชื่อชนิดเกิดจากการนำคำลาติน 2 คำมารวมกันคือคำว่า Sumatra และ ensis คำว่า Sumatra หมายถึง เกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนคำว่า ensis หมายถึงสถานที่ (Locality) ดังนั้นชื่อวิทยาศาสตร์ของเลียงผาคือ Capricornis sumatraensis จึงหมายถึง สัตว์มีเขาอย่างแพะแห่งเกาะสุมาตราสำหรับชื่อวิทยาศาสตร์อีกชื่อหนึ่งคือ Nemaorhaeaedus sumatraensis มีความหมายว่าแพะหนุ่มแห่งพงไพรของเกาะสุมาตราเนื่องจากคำว่า Nemor มาจากคำว่า Nemoris ในภาษาลาติน แปลว่า ป่า (Grave, Forest) และ Haedus มาจากภาษาลาตินแปลว่าแพะหนุ่ม (Young Goats) เลียงผามีชื่อสามัญว่า Serow มาจากคำว่า Saro ในภาษาของชาว Lepcha ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ อาศัยอยู่ในสิกขิม
     เลียงผาเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวหว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว (วิชาญและสวัสดิ์,2539) ตัวเมียเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี อาจยาวสุดเพียง 32 เซนติเมตร เส้นรอบวงโคนเขาประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวมีสีดำ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสีขาวแซม ขนขามีทั้งที่เป็นสีดำและสีแดงขึ้นอยู่กับสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เลียงผาที่อยู่ใต้คอคอดกระจะมีขนขาสีดำ ในขณะที่เลียงผาที่อยู่เหนือคอคอดกระจะมีขนสีแดง (สืบ, 2531) เลียงผามีขนที่ปากและใต้คาง สีขาว มีขนแผงคอที่ยาวและแข็งพาดผ่านจากหัวไปถึงโคนหาง แต่จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หัวถึงกลางหลัง มีต่อมกลิ่นใต้ดวงตา ใช้ถูตามก้อนหินหรือโคนต้นไม้เพื่อการหมายอาณาเขตครอบครอง
การแพร่กระจาย
     เลียงผามีการแพร่กระจายตั้งแต่ตอนเหนือของอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (Lekagul and McNeely, 1977) ในประเทศไทยประชากรกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามป่าตั้งแต่เหนือจรดใต้และตะวันออกจรดตะวันตก โดยเฉพาะตามเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาเพชรบูรณ์และภูเขาทั่วไปในบริเวณภาคใต้รวมทั้งบนเกาะในทะเลที่อยู่ไม่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มากนัก ในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์ย่อย คือ C. s. maritimus พบเหนือคอคอดกระขึ้นไป และ C. s. sumatraensis พบตั้งแต่ใต้คอคอดกระลงไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ เลียงผายังมีชนิดย่อยอีก 3 สายพันธุ์ย่อยคือ C. s. tahr พบในพื้นที่ตอนบนของอินเดีย สายพันธุ์ย่อย C. s. rubidus mพบในบังคลาเทศ และสายพันธุ์ย่อย C. s. milneedwardsi พบในจีนตอนใต้ (สืบ, 2531) สายพันธุ์ย่อยนี้อาจพยได้ทางตอนบนสุดของประเทศ
ชีววิทยา
     เลียงผาหนักประมาณ 85-140 กิโลกรัม สูงประมาณ 85-94 เซติเมตร ความยาวจากปลายจมูกจรดโคนหาง 140-155 เซนติเมตร หางยาว 11.5-16 เซนติเมตร หูยาว 17.5-20.5 เซนติเมตร ในกรงเลี้ยงมีอายุอยู่ได้ถึง 21 ปี เลียงผาตัวเมียสามารถเริ่มสืบพันธุ์เมื่ออายุตั้งแต่ 3 ปี ระยะตั้งท้อง 200-230 วัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว หนักประมาณ 3.6 กิโลกรัม ลูกหย่านมเมื่ออายุ 5-6 เดือน (Grzimet and Walther, 1990) ลูกอาศัยอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุ 1 ปี เลียงผาเป็นสัตว์ที่มีประสาทตาและการผังเสียงที่ดีมาก
นิเวศวิทยา
     เลียงผาเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีการครอบครองและป้องกันอาณาเขตหากินของตัวเองโดยมีพื้นที่ครอบครองประมาณ 850 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่เลียงผาหากินประจำประมาณ 538 ไร่ (ไสว, 2536) ตามปกติอาศัยหากินตัวเดียวตามลำพัง เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และช่วงเลี้ยงลูกอ่อนอาจพบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เลียงผาออกหากินตอนเย็นและเช้ามืด (Peacook, 1933; Humphrey and Bain, 1990) อาหารได้แก่ พืชต่าง ๆ ประมาณ 32 ชนิด (วิจักขณ์, 2533) เลียงผาชอบอาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันจึงปลอดภัยจากศัตรูธรรมชาติ แต่อาจถูกล่าโดยเสือดาว (Johnson, 1993) และหมี เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสัตว์กีบด้วยกันแล้ว ลักษณะสำคัญของประชากรสัตว์ในตระกูลแพะภูเขาเป็นแบบ Density lndeoendence กล่าวคือสาเหตุหลักของการตายไม่ได้เกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น (Schroder, 1985) ดังนั้นเลียงผาจึงเป็นสัตว์ที่สามารถฟื้นฟูประชากรได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น เลียงผา (Capriconis crispus) เคยลดจำนวนลงเหลือไม่ถึง 2,000 ตัว เมื่อมีการออกกฎหมายห้ามล่าทำให้ประชากรฟื้นฟูแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมีมากกว่า 20,000 ตัว และได้กลายเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ทำลายพืชเกษตรในประเทศญี่ปุ่น
สถานภาพ
     จากการประเมินประชากรของเลียงผาในประเทศ ปัจจุบันมีประชากรในธรรมชาติประมาณ 1,000-1,500 ตัว จากการจัดสถานภาพโดย IUCN (2004) เลียงผามีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และจากการคุ้มครองโดยอนุสัญญา CITES (2005) เลียงผาถูกจัดอยู่ในบัญชี 1 (Appendix l)
ปัจจัยคุกคาม
     โดยธรรมชาติแล้ง เลียงผาเป็นสัตว์ที่ครอบครองและป้าองกันพื้นที่หากินอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงแวะเวียนตรวจตราพื้นที่ครอบครองเป็นประจำ เพื่อป้องกันการบุกรุกจากเลียงผาตัวอื่น และมีนิสัยชอบถ่ายมูลเป็นประจำ จึงมักถูกล่าได้ง่ายตามแหล่งที่พบมูล และประกอบกับเลียงผาเป็นสัตว์ที่พบได้แม้ในพื้นที่ที่เป็นหน้าผาสูงชัน ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสพบเลียงผาตายในธรรมชาติ หรือเมื่อถูกยิงได้รับบาดเจ็บแล้วมักหาตัวไม่พบเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เออำนวยชาวบ้านจึงมีความเชิ่อว่าเลียงผาเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำลายในการรักษาบาดแผลที่ได้รับาดเจ็บ จากการพลัดตกเขาหรือบาดแผลจากการถูกยิงหรือใช้น้ำลายในการสมานกระดูกที่หักได้ ดังนั้นจึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำทันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2533) ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าวแล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาท รายได้จึงขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรงและถาวร
ที่มา
     หนังสือ “สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย” กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า (กรกฏาคม 2549)
 
 

125.24.35.128

Webmaster

Webmaster

ผู้ดูแล

uthayanclub@hotmail.com

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
กรุณากรอกตัวเลขผลลัพธ์จากด้านบน
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้