Webmaster
uthayanclub@hotmail.com
สมเสร็จ (1598 อ่าน)
27 ก.ย. 2554 18:02
สมเสร็จ
สมเสร็จเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับ Perissodactylea หรืออันดับของสัตว์กีบเดี่ยว อยู่ในกลุ่มเดียวกับม้า แรด และกระซู่ แต่สมเร็จถูกแยกไว้ในวงศ์ Tapiridae ซึ่งมาจากคำว่า Tupi ที่แปลงว่า สัตว์ ปัจจุบันวงศ์ Tapiridae มีอยู่เพียง 1 Genus คือ Tapirus ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด ในทวีปเอเซียมีเพียงชนิดเดียว คือ Tapirus indicus อีก 3 ชนิด มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปอเมิรการใต้
ลักษณะทั่วไป
ลักษณะรูปร่างของสมเสร็จมีส่วนคล้ายกับสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน โดยมีรูปร่างใหญ่ ขาสั้น และตีนมีกิบเหมือนแรด มีหูตั้งและตาเล็กเหมือนหมู มีหางสั้นเหมือนหมี มีจมูกและริมฝีปากบนยื่นออกมา คล้ายงวงช้าง ยืดและหดได้ สามารถใช้หักกิ่งไม้และพ่นน้ำได้
สมเสร็จเป็นสัตว์กีบคี่เช่นเดียวกับแรดและกระซู่ แต่ไม่มีนอบริเวณจมูกตีนหลังของสมเสร็จมีกีบนิ้ว 3 นิ้ว คล้ายแรด ส่วนตีนหน้ามีกีบน้ำ 4 นิ้ว ลักษณะกีบค่อนข้างเรียว แยกจากกัน โดยมีร่องระหว่างนิ้วลึกกว่าร่องขา รวมถึงหางและก้นเป็นสีดำ บริเวณกลางลำตัวตั้งแต่หลังขาหน้าถึงก้นเป็นสีขาว หนังตามลำตัวของสมเสร็จไม่หนา และไม่มีรอยพับเหมือนแรดและกระซู่ ยกเว้นบริเวณคอจะมีแผ่นหนังหนามาก ช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู เช่น เสือโคร่งที่ชอบตะปบเหยื่อบริเวณคอ สมเสร็จเอเซียมีขนาดใหญ่กว่าสมเสร็จพันธุ์อื่น ๆ และตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
การแพร่กระจาย
สมเสร็จเอเซียมีการแพร่กระจายในภาคใต้ของพม่า ประเทศไทยในภาคตะวันตกและภาคใต้จนถึงแหลมมาลายู และเกาะสุมาตรา ไม่มีรายงานการพบในเกาะชวา และบอร์เนียว แม้ว่าจะพบซากดึกดำบรรพ์ในบอร์เนียว ก็ตาม (Medway, 1969) ในประเทศไทยสมเสร็จมีแหล่งอาศัยในกลุ่มป่าตะวันตกบริเวณเขตติดต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก-ตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู รวมทั้งในกลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าทางภาคใต้ พบเกือบทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ชีววิทยา
สมเสร็จเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังหรืออยู่กับลูกจะอยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน (Lekagul and MeNeely, 1977 และ Kanchanasaka, B. 1004) เนื่องจากมีตาเล็ก การมองเห็นไม่ดีนัก การดำรงชีวิตจะใช้จมูกในการดมกลุ่นมากกว่า การทำกิจกรรมของสมเสร็จจึงใช้เวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยมีเวลาการทำกิจกรรมอยู่ในระหว่าง 18.00 น. จนถึง 05.00 น. ในตอนเช้ามืด (Kanchanasaka, B. 2004) สมเสร็จเป็นสัตว์กินพืช จะกินยอดไม้ ใบอ่อน และกิ่งที่แตกใหม่ โดยพืชอาหารที่สมเสร็จชอบประมาณ 48 % อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae และ Rubiaceae และพืชส่วนใหญ่ที่กินเป็นไม้ยืนต้น (Wood) ซึ่งมีบ้างเล็กน้อยที่เป็นไม้ล้มลุก (Williams and Petrides, 1990) สมเสร็จชอบเดินเล็มยอดไม้ที่ขึ้นสองข้างทางไปเรื่อย ๆ แต่จะกินยอดไม้ของพืชอาหารแต่ละชนิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้ายอดไม้สูงเกินไปสมเสร็จจะกัดลำต้นให้หักหรือใช้ขาหน้าคร่อมตัวจนลำต้นเอนหรือหักลงมา เส้นทางหากินของสมเสร็จอาจเป็นทางด่านที่ใช้ประจำร่วมกับสัตว์อื่น หรือเดินหากินไปเรื่อย ๆ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนไปตามลำห้วยเล็ก ๆ หรือพุ่มไม้รกในป่าดิบชื้น จากการศึกษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง กลุ่มพืชที่สมเสร็จชอบกินและแสวงหาในธรรมชาติมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งหมดในธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มในป่าดิบชื้น
ในวงศ์ Guttiferae, Moraceae, Euphorbiaceae และ Rubiaceae รวมทั้งผลไม้ของต้นมะมุด (Mangifera fortida) และมะปริง Bouea oppositiflia) (สมหญิง, 2546) อาจกล่าวได้ว่าสมเสร็จเป็นสัตว์ป่าสำคัญที่มีส่วนช่วยในการกระจายพันธุ์ของเมล็ดไม้ป่า (Bodmer, 1989) และพบว่าสมเสร็จกินผลไม้ขนาดเล็กที่หล่น รวมทั้งผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น ทุเรียน และขนุนด้วย (William, 1980)
สมเสร็จจะเป็นสัตว์ที่ถ่ายมูลซ้ำที่เดิม โดยพบมากที่สุดบริเวณสันเขา (สมหญิง, 2546) กองมูลส่วนใหญ่อยู่บริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ประมาณ 56 % ของกองมูลถูกกลบโดยเศษดินหรือใบไม้เก่า นอกจากนี้ยังพบมูลในน้ำบริเวณลำห้วยด้วย กองมูลของสมเสร็จมีลักษณะเป็นก้อนกลมขนาด 6.3x5.3 เซนติเมตร กองหนึ่งมีประมาณ 6-40 ก้อน (x = 24) มีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม มูลสมเสร็จค่อนข้างหยาบ ประกอบด้วยเส้นใยพืชและเมล็ดไม้ (อุษณีย์, 2527 และ Kanchanasaka, B. 2004) นอกจากนี้สมเสร็จยังมีการติดต่อสื่อสารโดยการขูดดิน ซึ่งมักจะทำในบริเวณใกล้ต้นไม้ใหญ่ การขูดดินนี้จะพบมากบริเวณสันเขาและลาดเขาในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูฝนการสื่อสารโดยใช้กลิ่นทำได้ไม่ค่อยได้ผล จึงทำให้มีการทำสัญลักษณ์เพิ่มมากขึ้น (สมหญิง, 2546)
สมเสร็จมีระยะตั้งท้องประมาณ 390-407 วัน (Read, 1987) ตัวเมียตกลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก 2 ปี ลูกที่เกิดใหม่มีขนสีน้ำตาล มีลายเป็นแถบสีขาวเป็นแนวตามยาวลำตัวคล้ายลายแตงไทย ลายตามตัวจางหายไปและเปลี่ยนเป็นสีดำสลับขาวเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุ 6-8 เดือน (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2534) สมเสร็จเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อเพศผู้มีอายุประมาณ 3 ปี และเพศเมียมีอายุ 2.8 ปี (Wilson and Wilson, 1973)
นิเวศวิทยา
ถิ่นอาศัยของสมเสร็จหลายแบบขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่แตกต่างกัน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในฤดูแล้วสมเสร็จจะหลบไปอาศัยในป่าดงดิบที่มีสภาพร่มรื่นตามลำห้วยต่าง ๆ และเข้าไปใช้ประโยชน์ในป่าเต็งรังและเบญจพรรณในช่วงฤดูฝน (ณรงค์, 2531) ในภาคใต้สมเสร็จอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ ทั้งป่าดิบชื้นป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบชื้น รวมทั้งสังคมป่าทดแทน ที่ระดับความสูงตั้งแต่บริเวณลำห้วย เชิงเขา จนถึงยอดเขาที่ระดับความสูง 1,300 เมตร (Kanchanasaka, B. 2004) พบรอยตีนของสมเสร็จมากที่สุดบริเวณลาดเขา แต่ในช่วงฤดูแล้งพบรอยตีนสมเสร็จบริเวณเชิงเขามากกว่าในฤดูฝน ที่นอนของสมเสร็จพบบนสันเขามากที่สุด สมเสร็จจะเลือกใช้พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพุ่มรกทึบอยู่หลังโคนต้นไม้ใหญ่เป็นที่หลบพัก (สมหญิง, 2546) ในอินโดนีเซีย สมเสร็จเลือกอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มในฤดูแล้ง และย้ายไปอาศัยในบริเวณภูเขาในฤดูฝน (Van der Zon, 1976) Sambom และ Watkin, 1950 ได้ประเมินความหนาแน่นประชากรของสมเสร็จในประเทศไทยไว้ประมาณ 0.035 ตัวต่อตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ตัวต่อพื้นที่ป่าขนาด 256 ตารางกิโลเมตร จากการศึกษาประชากรของสมเสร็จ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประเมินความหนาแน่นของประชากรสมเสร็จ จากการศึกษารอยเท้าไว้ประมาณ 0.065 ตัวต่อตารางกิโลเมตร (Kanchanasaka, B. 2004) และในอุทยานแห่งชาติทามันไนการ่า ประเทศมาเลเซีย พบว่ามีความหนาแน่น ของประชากรประมาณ 0.08 ตัวต่อตารางกิโลเมตร (Williams and Petrides, 1980 ตัวต่อตารางกิโลเมตร (Williams and Petrides, 1980) โดยสมเสร็จเพศผู้จะมีอาณาเขตครอบครอง ทับซ้อนกับสมเสร็จตัวอื่น ๆ และมีพื้นที่ครอบครองประมาณ 12.75 ตารางกิโลเมตร
สถานภาพ
จากการประเมินประชากรของสมเสร็จ โดยอาศัยข้อมูลจากการวิจัยที่มีอยู่คาดว่าจะมีสมเสร็จในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยประมาณ 700-1,000 ตัว ซึ่ง IUCN (ค.ศ.2004) ได้จัดสถานภาพของสมเสร็จเอเซียไว้ในกลุ่มของสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ (Endangered species) นอกจากนี้สมเสร็จยังถูกจัดเป็นสัตว์ในบัญชี 1 ซึ่งห้ามมิให้มีการค้าตามอนุสัญญา CITES อีกด้วย
ปัจจัยคุกคาม
การล่าสมเสร็จเพื่อนำเนื้อมาบริโภคไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก โดยเฉพาะในภาคใต้ อย่างไรก็ตามลักษณะรูปร่างของสมเสร็จที่เป็นสิ่งดึงดูดใจแก่ผู้พบเห็น ทำให้สมเสร็จเป็นสัตว์ที่สวนสัตว์ต่าง ๆ ต้องการนำมาแสดงให้แก่นักท่องเที่ยวชม จึงทำให้ยังมีการลักลอบล่าสมเสร็จที่มีอยู่โดยใช้บ่วงขาที่ทำจากลวดสลิงมาขายอยู่บ่อยครั้ง
เนื่องจากประชากรของสมเสร็จมีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์เท่านั้น แม้จะมีการยกเลิกสัมปทานทำไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 แล้ว แต่การทำลายพื้นที่ป่าไม้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในบริเวณใกล้แนวเขตที่ติดต่อกับหมู่บ้านทำให้พื้นที่ป่าถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งจะมีผลต่อขนาดพื้นที่อาศัยของสมเสร็จ เนื่องจากสมเสร็จเป็น Interior species จะหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ใกล้ชายป่า (Lynam, 1996) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของสมเสร็จที่ต้องการพื้นที่ป่าผืนใหญ่เพื่อให้มีจำนวนประชากรมากเพียงพอที่จะรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมไว้ได้
ที่มา
หนังสือ “สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย” กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า (กรกฏาคม 2549)
125.24.35.128
Webmaster
ผู้ดูแล
uthayanclub@hotmail.com