Webmaster
uthayanclub@hotmail.com
นกขุนแผน (2473 อ่าน)
27 ก.ย. 2554 18:50
นกขุนแผน
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดกลาง-ใหญ่ (75 เซนติเมตร รวมทั้งหางซึ่งยาว 47เซนติเมตร หรือมากกว่า) ปากสีแดง หัวและคอหอยสีดำ ด้านบนลำตัวสีน้ำเงิน มีลายพาดสีขาวและน้ำเงินอ่อนบริเวณท้ายทอย ด้านล่างลำตัวส่วนที่เหลือสีขาวมีลายแต้มสีน้ำเงินบริเวณอก และสีข้างขนปลายหางสีขาวมีแถบสีดำเกือบตอนปลาย
อุปนิสัยและอาหาร
เป็นนกที่พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล มักพบเป็นคู่ หรือ ฝูงเล็กๆ อาจจะหากินร่วมกับนกกะรางหัวหงอก นกปีกลายสก็อต และนกสาลิกาเขียว อาศัยและหากินตามกิ่งก้านทั้งต้นไม้ใหญ่ และไม้พุ่ม และพบเสมอที่ลงมาหากินตามพื้นดิน อาหารได้แก่สัตว์ต่างๆเช่น กิ้งก่า กบ งู นกขนาดเล็ก แมลงขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังกินผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะผลไม้สุกที่หล่นจากต้น
การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วย หรือกระจาด ด้วยการเอากิ่งไม้ต่างๆมาวางซ้อนทับกัน มีการสานสอดเล็กน้อย ทำตรงกลางให้เป็นแอ่งรองพื้นด้วยใบไม้ รากไม้เล็กๆ วางรังตามง่ามหรือกิ่งไม้ที่ติดกับลำต้น สูงจากพื้นดิน 6-8 เมตร หรือมากกว่า ในแต่ละรังมีไข่ 2-5 ฟอง บางรังก็มีมากถึง 6 ฟอง ไข่รูปข่าง สีน้ำตาล มีลายจุด และลายดอกดวงสีน้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลแดงทั่วฟองไข่ และจะมีมากบริเวณไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 23.9 x 33.9 มิลลิเมตร ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ซึ่งเมื่อออกจากไข่มาใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ลูกอ่อนอายุประมาณ 1 เดือน จะแข็งแรง และบินได้ จากนั้นก็จะทิ้งรังไป
สถานภาพ
กฎหมายจัดนกขุนแผนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
หนังสือชุดนกในเมืองไทย เล่ม 4 โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์
125.24.35.128
Webmaster
ผู้ดูแล
uthayanclub@hotmail.com