Webmaster
uthayanclub@hotmail.com
ตามรอยเส้นทางเสด็จ พระพุทธเจ้าหลวง สู่เกาะพงัน (1986 อ่าน)
6 ก.ย. 2554 11:20
เกาะพะงัน อยู่ในอำเภอเกาะพะงัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัว จ.สุราษฏร์ธานีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กม. สภาพภูมิประเทศบนเกาะพะงันจะมีที่ราบบริเวณกลางเกาะเรื่อยลงมาทางทิศใต้ของเกาะ และมีที่ราบริมหาดรอบๆ เกาะอีกเพียงเล็กน้อย นอกนั้นจะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าดงดิบชื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เกาะพะงันจึงเป็นเกาะกลางทะเลที่ไม่เคยขาดแคลนน้ำจืด ชาวบ้านบนเกาะพะงันทำอาชีพประมงชายฝั่ง สวนมะพร้าว ปลูกยางพารา มีชีวิตที่สงบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสแหลมมาลายูและหัวเมืองปักษ์ใต้ ระหว่าง ร.ศ.107-128 พระองค์ได้เสด็จประพาสเกาะพะงันหลายครั้ง และมีบันทึกถึงเกาะพะงันครั้งเสด็จคราวหนึ่งว่า...
"...เรือสุริยมณฑล ทอดอยู่ที่อ่าวเกาะพะงันด้านใต้แห่งเดียวน้ำลึก 3 วา ไกลจากตลิ่งประมาณ 70 เส้น แลเห็นหมู่เขาที่เกาะ สูง ๆ ซับซ้อนกัน ด้านนั้นฝั่งใต้มีหาดทรายและมีการ ซึ่งชาวเกาะพวกนั้นเรียกว่าคันนา อยู่ห่างตลิ่งประมาณ 20 เส้น เรือเล็กจะเข้าออก ต้องเราะคันการังไปกว่าจะมีช่อง ข้างหัวการังข้างเหนือจึงมีช่องเข้าฝั่งได้ ภายในคันการังเวลาน้ำลงการังผุด น้ำแห้งและเห็นการังที่หาดทรายเหล่านั้นไม่ทีเปลือกหอยที่ควรเก็บ เดินไปตามหาดหน่อยหนึ่ง มีศาลามุงจากแห่งหนึ่ง เป็นหนทางจะเข้าไปวัดและบ้านราษฏร พ้นแหลมด้านใต้ไปทางทิศตะวันออก มีคลองน้ำจืดที่ไหลมาจากเขาแต่ไกล ในเขานั้นมีธารน้ำไหลออกจากเขาลงทะเลหลายแห่ง เกาะนั้นแต่ก่อนมีแร่ทองคำ พระยาไชยา(กรับ) ได้ให้คนมาทำแล้วเลิกกันไป ตามฝั่งมีสวนมะพร้าวเรียงรายตลอดไป ราษฏรทำรั้วกั้นเขตสวนตลอดไปตามชายทะเล ข้างด้านตะวันตกมีเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะ ๆ หนึ่งมีพื้นที่ลาดออกไปตามชายเขา มีหาด มีต้นสน ต้นมะพร้าวมาก เปนทำเลน่าควรดู ริมเกาะเล็กที่สวนมะพร้าว มีเปนหลักศิลาขึ้นมาจากน้ำ ดูไหลเหมือนหนึ่งเรือใบ เกาะเล็กเกาะหนึ่งเห็นแต่ศิลาแดง ไม่มีต้นไม้ เรียกว่า เกาะเกลี้ยง..."
ด้วยบนเกาะพะงันมีป่าไม้อัยอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นธารน้ำหลายสาย ลำธารไหลผ่านเกาะแก่งและหน้าผาหิน กลายเป็นน้ำตกที่สวยงาม รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสลำธารแห่งนี้เห็นเป็นแก่งน้ำและลำธารใหญ่ จึงทรงพระราชทานนามว่า "ธารเสด็จ" และทรงโปรดสรงน้ำในลำธารนี้อย่างสบายพระองค์ ทรงโปรดน้ำตกธารสเด็จแห่งนี้มาก จะเสด็จมาทุกแทบทุกครั้งที่เสด็จเกาะพะงันนอกจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จไปยังลำธารน้ำตกแห่งอื่น ๆ และพระราชทานนามว่า "น้ำตกธารประพาส" และ "น้ำตกธารประเวศ" น้ำตกทั้งสามแห่ง ทรงจารึกชื่อน้ำตกบนศิลาริมธารบนน้ำตกทั้งสามแห่ง
นอกจากนั้นยังทรงโปรดให้จารึกพระปรมาภิไธย จปร และ ตัวเลขรัตนโกสินทร์ศฏ (ร.ศ.) ที่เสด็จในแต่ละครั้ง ที่ น้ำตกธารเสด็จ ธารประพาส และธารประเวศ ที่น้ำตกธารเสด็จนั้น ศิลาที่จารึกพระปรมาภิไธยเรียกว่า ศิลา จปร หนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีจารึกพระปรมาภิไธย และปี ร.ศ. ที่เสด็จเกาะเต่าด้วย
คราวหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสบนภูเขาสูงบนเกาะพะงัน ทรงพบเห็นไร่พริก มะเขือของราษฏร จึงทรงให้จารึกคำว่า "ต่อไปมีไร่" ไว้บนศิลาก้อนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะพะงันมากถึง 14 ครั้ง บางครั้งก็ประทับแรมบนเรือพระที่นั่งที่ทอดสมอหน้าอ่าวธารเสด็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเกาะพะงันมาจตนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีพระมหากษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ได้เสด็จมายังเกาะพะงันและทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้ที่ธารเสด็จแห่งนี้คือ
1.พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเมื่อ 20 เมษายน ร.ศ.130
2.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงจารึกไว้ที่หินสามรัชกาล ตรงข้ามศิลา จปร หนึ่ง และศิลาคลองสาม
3.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงจารึก พระปรมาภิไธยที่ ศิลาสามรัชกาล และศิลาริมธารเสด็จ ก่อนถึง ศิลา จปร หนึ่ง
นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงจารึกพระนามาภิไธย ย่อ "รพ" ไว้ที่น้ำตกธารเสด็จอีก 2-3 แห่งอีกด้วย จะเห็นว่าน้ำตกธารเสด็จแห่งนี้ เป็นน้ำตกประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปรานและพอพระราชหฤทัยที่จะทรงสเด็จสรงน้ำในลำธารน้ำตกแห่งนี้ อีกทั้งยังเป้นน้ำตกที่พระมหากษัตริย์ไทยและเชื้อพระวงศ์เสด็จประพาสบ่อยที่สุดอีกด้วย
ปัจจุบันน้ำตกธารเสด็จอยู่ในความดูแลของ "อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-เกาะพะงัน" ยังคงมีน้ำไหลตลอดทั้งปีและปรากฏรอยจารึกต่าง ๆ อย่างชัดเจน ส่วนน้ำตกธารประพาสและน้ำตกธารประเวศไม่มีน้ำในฤดูแล้ง การเที่ยวชมน้ำตกธารเสด็จบนเกาะพะงัน นอกจากจะชื่นชมธรรมชาติอันบริสุทธิ์สวยงามแล้วยังเป็นการตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงมายังน้ำตกสายประวัติศาสตร์ เพื่อระลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัติไทยที่แผ่พระบารมีไพศาลนำความร่มเย็นมาสู่แผ่นดินไทย ตราบมาจนทุกวันนี้...
อ้างอิงจาก: วารสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ฉบับที่ 17 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2550
125.24.16.5
Webmaster
ผู้ดูแล
uthayanclub@hotmail.com